จริยธรรมของตำรวจ


คู่มือจริยธรรมของตำรวจ

        จริยธรรม  วัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณี มีความเกี่ยวข้องกับจริยศาสตร์ในทางปฏิบัติจริยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าความประพฤติ การกระทำของมนุษย์ จุดมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์ สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต ปรัชญาชีวิตคนไทยวัฒนธรรม ประเพณี จริยธรรม ล้วนสืบเนื่องมาจากปรัชญาของพุทธศาสนา  การมีความรู้  ความเข้าใจเรื่องจริยธรรม  ย่อมก่อให้เกิดแนวทางการปฏิบัติตนที่เหมาะสม เข้าใจทรรศนะและรูปแบบการปฏิบัติตน เพื่อประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่
๑.๑ ความหมายของจริยธรรม
       พระราชวรมุนี อธิบายว่า จริยธรรมหมายถึงสิ่งที่ทำได้ในทางวินัย จนเกิดความเคยชินมีพลังใจ  มีความตั้งใจแน่วแน่  จึงต้องอาศัยปัญญา  ปัญญาอาจเกิดจากความศรัทธาเชื่อถือผู้อื่นในทางพุทธศาสนาสอนว่า จริยธรรม คือการนำความรู้ความจริง หรือกฎธรรมชาติ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดีงาน
        พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕  ได้อธิบายความหมายของจริยธรรมว่าธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม
        ดร. กระมล ทองธรรมชาติ อธิบายว่า จริยธรรม หมายถึง ธรรม หรือหลักความประพฤติที่ควรแก่การยึดถือ และปฏิบัติตาม
        รองศาสตราจารย์ แสง จันทร์งาม อธิบายว่า คำว่า จริยธรรม แยกออกได้เป็น  ๒ คำ คือ จริย แปลว่า ความประพฤติ และ ธรรม หมายถึงคุณภาพของจิตใจของแต่ละคน เมื่อเอาคำทั้ง ๒ มารวมกันเข้าเป็นคำ จริยธรรม

                                                     
จึงหมายถึงคุณภาพจิตที่มีอิทธิพลต่อความประพฤติของคน      
        ดร. สาโรช บัวศรี อธิบายว่า จริยธรรม คือ แนวทางในการประพฤติตนเพื่ออยู่กันได้อย่างร่มเย็นในสังคม
        ดร. ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบายว่า จริยธรรม คือประมวลความประพฤติ และความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามเหมาะสม
๑.๒ ส่วนประกอบของจริยธรรม
       ความเป็นผู้มีจริยธรรมของบุคคลเกิดขึ้นได้จากส่วนประกอบ ๓ ประการ คือ
        ๑.๒.๑ ด้านความรู้ คือความเข้าใจในเหตุผลของความถูกต้องดีงาม สามารถตัดสินแยกความถูกต้องออกจากความไม่ถูกต้องได้ด้วยการคิด
        ๑.๒.๒ ด้านอารมณ์ ความรู้สึก ความพอใจ ศรัทธาเลื่อมใส เกิดความนิยมยินดียอมรับเพื่อนำมาเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติ
        ๑.๒.๓ ด้านพฤติกรรมแสดงออก คือ พฤติกรรมการกระทำที่บุคคลตัดสินใจกระทำถูกหรือผิดในสถานการณ์แวดล้อมต่าง ๆ โดยมีอิทธิพลหรือสถานการณ์รุมเร้า
        การได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดความรู้  ได้เห็นแบบอย่างของจริยธรรม มีการฝึกฝนปฏิบัติสม่ำเสมอ จนเป็นความเคยชินที่ดีงาน เรียกว่า คุณธรรม
๑.๓ ขอบข่ายของจริยธรรม
        ๑. จริยธรรม ความหมายกว้าง ๆ คือ กฎเกณฑ์ของความประพฤติที่มนุษย์ควรประพฤติให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้มีเหตุผล มีความคิดและสติปัญญา ได้แก่ สัตว์ประเสริฐผู้มีปรีชาญาณคือ บ่อเกิดของสำนึกทางจริยธรรม
        ๒. จรรยา หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่คณะ เช่น จรรยาครู จรรยาตำรวจ ฯลฯ
๓. จรรยาบรรณ หมายถึง ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของสมาชิก
        ๔. ศีลธรรม หมายถึง ความประพฤติ  ความประพฤติชอบ ส่วนใหญ่ใช้ในความหมายทาง ศาสนาคือ ปฏิบัติตามหลักศีลและธรรม
        ๕. คุณธรรม หมายถึง สภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ เช่น ความเป็นผู้ไม่กล่าวเท็จ โดยหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นคุณธรรม คุณธรรม คือ จริยธรรมที่ฝึกจนเป็นนิสัย เช่น ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน เสียสละ รับผิดชอบ ฯลฯ
        ๖. มโนธรรม หมายถึง ความรู้ผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำเชื่อกันว่ามนุษย์ทุกคนมีมโนธรรมเนื่องจากบางขณะเราเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจระหว่างความรู้สึกต้องการทำสิ่งหนึ่ง และรู้ว่าควรทำอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ต้องการไปแข่งรถมอเตอร์ไซค์กับเพื่อนแต่เตือนใจตนเองว่าไม่สามารถกระทำ เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านอื่นจนไม่มีเวลาว่าง
        ๗. มารยาท หมายถึง กิริยา วาจา ที่สังคมกำหนดไว้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น