คุณค่าของการประพฤติตนของตำรวจที่มีจริยธรรม


๑.๔ คุณค่าของการประพฤติตนเป็นตำรวจที่มีจริยธรรม
        ตำรวจเป็นข้าราชการที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด เป็นปราการด่านแรกของรัฐบาลในการรับใช้ประชาชน ทางด้านประชาชนเมื่อมีเหตุเดือดร้อนย่อมนึกถึงที่พึ่งคือตำรวจก่อนผู้อื่น ตำรวจจึงต้องพร้อมและทำตัวให้เป็นตำรวจที่ดี เป็นที่พึ่งของประชาชนสมกับคำกล่าวที่ว่า เราอยู่ไหนประชาอุ่นใจทั่วกัน ตรงกันข้ามตำรวจที่ไม่ดีย่อมไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ดังนั้นหากตำรวจประพฤติตนเป็นคนดี มีจริยธรรมแล้ว นอกจากจะเป็นประโยชน์ให้ตนเองพ้นทุกข์ มีความสุขแล้ว  ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและประชาชนอีกด้วย

                                                               
        อาจกล่าวได้ว่าการที่ตำรวจประพฤติตนเป็นคนดีมีจริยธรรม  มีคุณค่าและ
ประโยชน์ดังต่อไปนี้คือ
        ๑. เป็นประโยชน์ต่อตัวตำรวจเองและครอบครัว  เช่น  ถ้าหากตำรวจเลิกละอบายมุขได้ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่คบมิตรชั่วอันจะพาให้ตัวพลอยประพฤติชั่วไปด้วยแล้ว เงินรายได้ก็จะพอใช้ไม่เดือดร้อน ครอบครัวมีความสุข เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ครอบครัวและผู้อื่นอีกด้วย
        ๒. เป็นประโยชน์ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการที่ทำให้ภาพพจน์ หรือภาพลักษณ์ของตำรวจดีขึ้น เป็นที่พอใจของประชาชน และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ตำรวจผู้อื่น
        ๓. เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่การงานของตำรวจ เพราะนอกจากเป็นการทำให้ตนเองไม่มีปัญหาอันอาจเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่การงานแล้ว ผู้มีจริยธรรมย่อมเป็นผู้มีความขยันขันแข็ง เสียสละและสามัคคี  อันเกิดมาจากความไม่เห็นแก่ตัว  อันจะทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
        ๔. ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากประชาชน เพราะเมื่อตำรวจทำตนเป็นคนดี มีจริยธรรม เช่น มีความซื่อสัตย์ ช่วยเหลือประชาชน เป็นต้น ย่อมเป็นที่รักใคร่ ยกย่องมีเกียรติยศ ศักดิ์ศรีประชาชนย่อมมีความศรัทธาเลื่อมใส และมีความเชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ ประชาชนก็จะให้ความร่วมมือในการทำงานของตำรวจ เช่น ให้ข่าวคนร้ายไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ยินดีเป็นพยานให้ตำรวจ เป็นต้น การกระทำผิดกฎหมายจะลดน้อยลง ประชาชนก็มีความสุข
        ประเมินได้ว่า โอกาสที่ตำรวจจะสร้างภาพพจน์ที่ดีได้นั้น ทำได้โดยง่ายด้วยความตั้งใจเพราะประชาชนมีศรัทธาและความนิยมเป็นพื้นฐาน
๑.๕ แนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีจริยธรรมของข้าราชการตำรวจ
คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานตำรวจ ด้านการ

ประชาสัมพันธ์และการเสริมสร้างภาพพจน์ได้เสนอแนวทางในการปฏิบัติตน สรุปได้ดังต่อไปนี้
        ๑. ตำรวจจะต้องไม่ทุจริตต่อหน้าที่ด้วยประการทั้งปวง เช่น รับเงินจากผู้กระทำผิดหรือเรียกร้อง หรือรับเงินในการให้บริการแก่ประชาชน ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ
        ๒. ตำรวจจะต้องไม่เป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเสียเอง หรือให้ความร่วมมือ หรือสนับสนุนผู้กระทำผิด เช่น การค้ายาเสพติด ปล้นทรัพย์ กรรโชกทรัพย์  มั่วสุมเล่นการพนัน  คุมบ่อนคุมซ่องกระทำผิดกฎหมายจราจร  เสพสุราจนไม่สามารถครองสติได้ เป็นต้น
        ๓. ไม่ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตของกฎหมาย หรือใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในเชิงกดขี่ข่มเหงประชาชน เช่น วิสามัญฆาตกรรมเกินกว่าเหตุ การซ้อม     ผู้ต้องหา การแกล้งจับด้วยเรื่องส่วนตัว หรือเพราะบันดาลโทสะ หรือใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตเพราะหวังผลงาน หรือความดีความชอบ เป็นต้น
        ๔. ใช้กิริยาวาจาที่สุภาพต่อประชาชน ไม่ใช้กิริยาวาจาที่ไม่สมควร เช่น แสดงกิริยาเบ่งกับประชาชน พูดจาหยาบคาย ดูถูกประชาชน หรือใช้วาจาที่ไม่สมควร
        ๕. ให้การต้อนรับแก่ประชาชนด้วยความเต็มอกเต็มใจ กระตือรือร้น และอ่อนน้อมถ่อมตน และให้บริการแก่ประชาชนด้วยความกระตือรือร้นไม่เกี่ยงงอน
        ๖. ปรับปรุงความรู้ความสามารถและสมรรถภาพในการทำงานอยู่เสมอ
        ๗. หมั่นตรวจสอบและพัฒนาจิตใจตนเองอยู่เสมอ เช่น หาโอกาสไปวัด ฟังธรรมเทศนาพบปะสมณะที่ดีและน้อมนำธรรมะมาฝึกฝนปฏิบัติ
        ๘. ฝึกตนให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ใช้จ่ายแต่สิ่งที่จำเป็นไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไปตามสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น